มหัศจรรย์น้ำมันมะพร้าว
www.coconut-virgin.com
คุณสมบัติน้ำมันมะพร้าว
น้ำมันมะพร้าวเป็นน้ำมันที่ได้จากธรรมชาติ ปราศจากสารเคมีสังเคราะห์ใดๆเจือปน โดยเฉพาะสารกำจัดศัตรูพืช ซึ่งมักจะมีเจือปนอยู่ในน้ำมันพืชชนิดอื่นๆ เราสามารถใช้น้ำมันมะพร้าวในสภาพที่สกัดได้ตามธรรมชาติทันที โดยไม่ต้องทำให้บริสุทธิ์ ฟอกสี และกำจัดกลิ่น ดังเช่นน้ำมันพืชอื่นๆ จึงปลอดภัยจากอันตรายของสารเคมี น้ำมันมะพร้าวมีคุณสมบัติที่ดีเด่นที่ไม่มีในน้ำมันพืชอื่นใดในโลก ดังต่อไปนี้
เป็นกรดไขมันอิ่มตัว
น้ำมันมะพร้าว ประกอบด้วยกรดไขมันอิ่มตัว ประมาณ 92% ธาตุคาร์บอน (C) จับกันด้วยพันธะ (bond) เดี่ยว ไม่เปิดโอกาสให้ไฮโดรเจน (H2) และออกซิเจน (O2) แทรก ดังนั้น น้ำมันมะพร้าว “อิ่มตัว” ส่วนที่เหลือ (8%) เป็นกรดไขมันไม่อิ่มตัวที่ที่ C บางตัว จับกันด้วยพันธะคู่ เปิดโอกาสให้ H2 และ O2 แทรกจึง “ไม่อิ่มตัว” ดูสูตรโครงสร้างของน้ำมัน ได้ดังภาพ
สูตรโครงสร้างของน้ำมันอิ่มตัว (บน) เปรียบเทียบกับน้ำมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยว (กลาง) และน้ำมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อน (ล่าง)
การเติมออกซิเจน (Oxidation) เป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นตลอดเวลา ก่อให้เกิดความเสื่อมของโมเลกุล กล่าวคือ เกิดอนุมูลอิสระขึ้นมาจากผลของการเติมออกซิเจน ซึ่งเป็นที่รู้กันดีอยู่แล้วว่า “อนุมูลอิสระ” เป็นตัวการของการเกิดโรคแห่งความเสื่อมมากมาย
การเติมไฮโดรเจน (Hydrogenation) เกิดจากการนำน้ำมันไม่อิ่มตัวไปถูกกับอุณหภูมิสูง เช่น ในการทอดอาหารในน้ำมันท่วม จึงเกิดเป็นสารตัวใหม่ชื่อว่า “ไขมันทรานส์ (Trans fats)” ซึ่งเป็นโมเลกุลที่เปลี่ยนรูปร่างไป และเกิดผลเสียต่อเซลล์ เช่น ทำให้เยื่อบุเซลล์บุบสลาย ทำให้เชื้อโรคหรือสารพิษเข้าไปในเซลล์ได้ หรือเกิดการเปลี่ยนแปลง DNA ของเซลล์ นอกจากนั้น ยังเกิดจากการนำน้ำมันไม่อิ่มตัวไปเติมไฮโดรเจนเพียงบางส่วนในทางอุตสาหกรรม โดยต้องใช้ความดันและสารแคตาลิสต์เข้าช่วย เพื่อให้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นน้ำมันไม่อิ่มตัวเปลี่ยนเป็นน้ำมันอิ่มตัว เพื่อจะได้ไม่เกิดการหืน (เพราะถูกเติมออกซิเจน) และทำให้น้ำมันอยู่ในรูปที่แข็งตัว ทำให้จับต้องผลิตภัณฑ์อาหารได้สะดวกไม่เหนียวเหนอะหนะ
เป็นกรดไขมันขนาดกลาง
น้ำมันมะพร้าวมีองค์ประกอบส่วยใหญ่ (62.5%) เป็นกรดไขมันขนาดกลาง (Medium-Chain Fatty Acids – MCFAs) ร่างกายตอบสนองไขมันขนาดต่างๆแตกต่างกัน ทำให้น้ำมันมะพร้าวมีคุณสมบัติพิเศษในด้านการแพทย์และโชนาการ การเป็นกรดไขมันขนาดกลางมีข้อได้เปรียบ คือ
เปลี่ยนเป็นพลังงานได้อย่างรวดเร็ว น้ำมันมะพร้าวถูกดูดซึมและเคลื่อนย้ายอย่างรวดเร็วเมื่อบริโภคเข้าไป จะผ่านกระเพาะไปยังลำไส้ เข้าไปในกระแสเลือด แล้วเปลี่ยนเป็นพลังงานที่ตับอย่างรวดเร็ว (ภายในหนึ่งชั่วโมง) ทำให้ไม่เกิดเป็นไขมันสะสมในร่างกาย
เพิ่มอัตราเมตาบอลิสซึม น้ำมันมะพร้าวช่วยเร่งอัตราเมตาบอลิสซึม (Metabolism) จากการเพิ่มประสิทธิภาพของต่อมธัยรอยด์ ผลของความร้อนที่เกิดขึ้น (Thermogenic Effect) เกิดขึ้นเป็นเวลานาน (กว่า 24 ชม.) จึงได้พลังงานมากขึ้นและมีอัตราเผาผลาญที่เร็วขึ้น นอกจากตัวมันเองจะถูกเผาผลาญในอัตราที่เร็วแล้ว ยังช่วยเผาผลาญอาหารที่รับประทานเข้าไปพร้อมกัน ทำให้ไม่ไปสะสมเป็นไขมัน อีกทั้งยังไปเผาผลาญไขมันที่สะสมไว้แต่เดิม ทำให้ร่างกายผอมลง
มีสารฆ่าเชื้อโรค
น้ำมันมะพร้าวมีกรดลอริก (Lauric Acid; C=12) อยู่สูง (48-53%) เมื่อบริโภคเข้าไปในร่างกาย จะเปลี่ยนเป็นโมโนกลีเซอไรด์ ชื่อโมโนลอรินที่ช่วยสร้างภูมิคุ้มกัน และยังมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อโรค Enig (1999) ได้รายงานว่าน้ำมันมะพร้าวสามารถฆ่าเชื้อแบคทีเรีย รา ยีสต์ โปรโตซัว และแม้กระทั่งเชื้อไวรัส ผลงานวิจัยของ Dayrit (2000) พบว่า กรดลอริกและโมโนลอรินสามารถช่วยลดปริมาณของเชื้อไวรัส (HIV) ในคนไข้โรคเอดส์ได้ อย่างไรก็ตาม โมโนลอรินก็ไม่สามารถฆ่าจุลินทรีย์ได้ทุกชนิด จะฆ่าได้ก็เฉพาะเชื้อโรคที่มีเยื่อหุ้มเซลล์ที่เป็นไขมัน เช่น เชื้อไข้หวัดใหญ่ โรคเริม คางทูม โรคซาร์ และโรคเอดส์ การที่โมโนลอรินไม่ฆ่าจุลินทรีย์ทุกชนิดก็เป็นข้อดี เพราะแบคทีเรียที่เป็นประโยชน์ในกระเพาะจะไม่ถูกทำลาย
นอกจากกรดลอริกแล้ว น้ำมันมะพร้าวยังมีกรดไขมันขนาดกลางอีก 2 ตัว คือ กรดคาปริก (Capric Acid; C-10, 7%) และกรดคาปริลลิก (Capryllic Acid; C-8, 8%) ที่มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อโรคได้เช่นกัน และต่างก็ช่วยเสริมกรดลอริกในการเพิ่มภูมิคุ้มกันให้แก่ร่างกาย เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อโรคเหล่านี้ก่อให้เกิดโรคแก่ร่างกาย หรือฆ่าเชื้อโรคเหล่านี้เมื่อปรากฏตัวขึ้น
มีสารแอนตีออกซิแดนต์
น้ำมันมะพร้าวมีสารแอนตีออกซิแดนต์ (Antioxidant) หลายประเภททีมีประสิทธิภาพสูงและในปริมาณมาก สารเหล่านี้ทำหน้าที่ต่อต้านการเติมออกซิเจน (Oxidation) ที่เป็นกระบวนการที่ทำให้เกิดอนุมูลอิสระ (Free Radicals) ซึ่งเป็นโมเลกุลที่เปลี่ยนสภาพ เพราะสูญเสียอิเล็คตรอนในวงแหวนรอบนอก กลายเป็น “โมเลกุลเกเร” เที่ยวไปโจมตีโมเลกุลอื่นๆ โดยไปดึงอีเล็คตรอนจากโมเลกุลที่อยู่ใกล้เคียงตัวหนึ่ง และโมเลกุลนี้ก็ไปดึงอิเล็คตรอนจากโมเลกุลข้างเคียงอื่นๆต่อไป เกิดเป็นปฏิกิริยาลูกโซ่ ทำให้เซลล์ผิดปกติ เช่น เยื่อบุเซลล์ฉีกขาด ผิวหนังเหี่ยวย่น เปลี่ยนสารพันธุกรรมในนิวเคลียส ทำให้เกิดการกลายพันธุ์อันเป็นสาเหตุของการเกิดโรคที่เกี่ยวกับความเสื่อมของร่างกายไม่ต่ำกว่า 60 โรค โดยเฉพาะโรคหัวใจ มะเร็ง ไขข้ออักเสบ เบาหวาน ภูมิแพ้ และชราภาพ
อนุมูลอิสระเกิดจากมลพิษในสิ่งแวดล้อม และในอาหาร เครื่องดื่ม การสูบบุหรี่ ความเครียด ฯลฯ และโดยเฉพาะในน้ำมันไม่อิ่มตัว ซึ่งจะถูกเติมออกซิเจน (Oxidized) ได้โดยง่ายเพราะมีพันธะคู่ (Double Bond) ในโมเลกุลตั้งแต่เริ่มสกัด ตลอดจนระหว่างทางก่อนถูกนำไปบริโภค จึงเกิดเป็นอนุมูลอิสระได้ง่าย อนุมูลอิสระที่เกิดขึ้นนี้ไปลดสารแอนตีออกซิแดนต์ที่มีอยู่ในร่างกาย ทำให้เกิดปฏิกิริยาทางเคมีทีทำให้เกิดผลเสียแก่เซลล์และเนื้อเยื่อ
ที่มา: หนังสือ "มหัศจรรย์น้ำมันมะพร้าว" โดย ดร. ณรงค์ โฉมเฉลา หน้า 6 - 10
|